หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537
ประเทศ จีน
กลับไปหน้าที่แล้ว

เกล็ดหิมะในสายหมอก


     พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๗ ที่ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๔-๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ซึ่งในพระราชนิพนธ์กล่าวนำ ได้ทรงเล่าไว้ว่า

     “ถึงแม้ข้าพเจ้าจะเคยเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายครั้ง แต่ครั้งที่ถือว่าเป็นการเดินทางเพื่อประโยชน์ในด้านจีนศึกษาอย่างแท้จริงนั้น ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่สาม กล่าวคือ ในครั้งแรกเดินทางเพื่อทำความรู้จักกับประเทศจีนโดยรวมในพ.ศ. ๒๕๒๔ ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๕๓๓  เพื่อศึกษาภาคตะวันตกของจีน หรือที่รู้จักกันว่าเส้นทางแพรไหมในสมัยโบราณ ครั้งที่สามคือครั้งนี้ ตั้งใจไปศึกษาเรื่องภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนคือ มณฑลเหลียวหนิง จี๋หลิน และเฮยหลงเจียง ซึ่งเป็นดินแดนถิ่นกำเนิดของพวกแมนจู ภาษาจีนเรียกว่าพวกหม่านโจว ต่อมาได้รวมตัวกันตั้งราชวงศ์ชิง เข้าบุกปักกิ่งและใช้เป็นราชธานีต่อมาจนสิ้นราชวงศ์ ดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือยังเป็นดินแดนสำคัญในประวัติการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปัจจุบันก็มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของจีน เนื่องจากมีทรัพยากรอยู่มาก เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ทั้งยังมีทัศนียภาพที่งดงาม สภาพภูมิศาสตร์ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ...”  

     เกล็ดหิมะในสายหมอก จัดพิมพ์เป็นชุด ชุดหนึ่งมี ๕ เล่ม ได้แก่
     เล่ม ๑ ปักกิ่ง
     เล่ม ๒ เหลียวหนิง
     เล่ม ๓ จี๋หลิน
     เล่ม ๔  เฮยหลงเจียง
     เล่ม ๕ ภาคผนวก

     เล่ม ๑  “ปักกิ่ง” วันที่ ๔-๖ มกราคม ๒๕๓๗

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เสด็จฯ ไปยังเรือนรับรองที่ประทับเตี้ยวหยูว์ไถ อาคาร ๑๒ ในช่วงค่ำ นายซ่งเจี้ยน มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูว์ไถ อาคาร ๑๐

     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรหอสมุดแห่งชาติปักกิ่ง เป็นที่เก็บหนังสือเก่าที่สำคัญของประเทศ มีหนังสืออายุถึง ๓,๕๐๐ กว่าปี รวมทั้งหนังสือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน หนังสืออ้างอิง จดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างจังหวัดระดับอำเภอขึ้นไป ซึ่งเป็นข้อมูลพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนด้วย ทอดพระเนตรหนังสือเก่าและหนังสือหายาก งานซ่อมแซมหนังสือโบราณ ภาพเขียนและเอกสารโบราณ แผนกไมโครฟิล์ม จากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสวนจำลองนานาชาติปักกิ่ง เป็นสวนสาธารณะใหญ่รวมสิ่งก่อสร้างจากประเทศต่าง ๆ สร้างตามตำแหน่งในแผนที่โลก ในช่วงค่ำ นายหลี่เผิง นายกรัฐมนตรีและภริยา จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย

     เสด็จฯ ไปทรงร่วมงานแนะนำหนังสือพระราชนิพนธ์แปล ณ โรงแรมแชงกรีลา ผู้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์แปล คือ สำนักพิมพ์ซานเหลียน เป็นสำนักพิมพ์ที่จัดตั้งมากว่า ๖๐ ปีแล้ว มีหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาติต่าง ๆ ในการดำเนินการแปลได้ทรงมอบหมายให้มาดามกู้หย่าจงแปลเรื่องต่าง ๆ เช่น บันทึกประจำวันในขณะเสด็จฯ เยือนประเทศจีน บทความเรื่องอื่น ๆ ที่ได้ทรงแสดงพระราชทัศนะไว้ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปฏิรูปบ้านเมือง การศึกษากับการพัฒนาประเทศ มีพระราชดำริว่าการแปลและการพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นการสร้างสรรค์ทางปัญญา และเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย

     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวัดเจดีย์พระเขี้ยวแก้ว เรียกอีกชื่อว่าวัดหลิงกวง หมายถึง แสงสว่างแห่งจิตวิญญาณหรือแสงปาฏิหาริย์ มีวิหารพระพุทธรูปที่สมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธ ประทาน สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันเสด็จมาเบิกพระเนตร มีพระนามว่าพระพุทธปฏิมาวาสนมุนินทร์ หรือหลวงพ่อปักกิ่ง มีเจดีย์ทองที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรย่านการค้าในกรุงปักกิ่ง และทรงซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือถนนหวังฝูจิ่ง จากนั้น ประทับเครื่องบินพระที่นั่งของบริษัท นอร์ธเธิร์น ไชน่า เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง

     เล่ม ๒ “เหลียวหนิง” วันที่ ๗-๘ มกราคม ๒๕๓๗

     มณฑลเหลียวหนิง เป็นมณฑลขนาดกลางแต่อุดมด้วยทรัพยากร มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง มีฝั่งทะเลยาวถึง ๒,๒๐๐ กิโลเมตร เป็นอันดับ ๒ ของจีน มีเมืองสำคัญ เช่น ต้าเหลียน หยิงโข่ว ตานตง และจิ่นโจว มีนโยบายเปิดประตูสู่โลก (ใช้ระบบเศรษฐกิจพิเศษ) คือมีนโยบายให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้มาลงทุนในมณฑล และมีการลงทุนร่วมกับต่างประเทศมาก

     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมณฑลเหลียวหนิง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างตั้งแต่ค.ศ. ๑๙๓๐ เป็น ๑ ใน ๘ พิพิธภัณฑ์สำคัญของจีน เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรสุสานตงหลิง ใกล้เมืองเสิ่นหยาง สุสานนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า "ฝูหลิง" ฝู แปลว่า โชคดี หรือมีความสุข เป็นสุสานของพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิงหรือเช็ง และพระมเหสีในราชนิกูลเย่เฮ้อนาลาซือ สร้างในค.ศ. ๑๖๒๙ เสร็จในค.ศ. ๑๖๕๑ ได้ทรงเล่าพระราชทานเรื่องการเสด็จฯ เยือนสุสานนี้ ความตอนหนึ่งว่า

     “...ขึ้นบันได เขาเรียกว่าบันไดร้อยแปดขั้น เท่าจำนวนดาวสำคัญในท้องฟ้า (ดาวบนฟ้า ๓๖ ดวง ดาวบนพื้นดิน ๗๒ ดวง) แต่พระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อยังสูงกว่าดาวทั้งหมดนี้ ทางเดินนี้เรียกว่า ไต้เทียนเฉียง แปลว่าสะพานสวรรค์ คนที่ขึ้นไปก็จะเป็นเซียน เป็นทางเฉพาะพระจักรพรรดิเช่นเดียวกัน เมื่อหลังการปฏิวัติจึงให้ใคร ๆ ขึ้นได้ เลข ๑๐๘ เป็นเลขมงคล ลูกประคำมักจะมี ๑๐๘ ลูก...”

     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ซินเล่อ เป็นที่เก็บโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดพบในบริเวณหมู่บ้านซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำบลซินเล่อ จากนั้น เสด็จฯ ไปทรงร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ผู้ว่าราชการมณฑลเหลียวหนิงจัดถวาย นอกจากนี้ ณ มณฑลเหลียวหนิง เสด็จฯ ไปยังสถาบันแพทยศาสตร์แผนจีนแห่งมณฑลเหลียวหนิง ทอดพระเนตรการรักษาโรคโดยวิธีการฝังเข็ม แผนกนวด ห้องยา และเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวังโบราณกู้กง และสุสานเป่ยหลิง

     เล่ม ๓  “จี๋หลิน” วันที่ ๙-๑๓ มกราคม ๒๕๓๗

     ประทับรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง เสด็จฯ ไปยังสถานีรถไฟฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ระหว่างทาง ทอดพระเนตรทิวทัศน์ฤดูหนาวสองข้างทางรถไฟ ส่วนมากมีหิมะปกคลุม

     มณฑลจี๋หลิน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อยู่เหนือมณฑลเหลียวหนิง มีชายแดนติดต่อกับประเทศเกาหลีและรัสเซีย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ สามารถส่งออกได้ มีธรรมชาติที่งดงาม เช่น เทือกเขาฉางไป๋ซาน ในปี ค.ศ. ๑๖๔๔ สมัยราชวงศ์ชิงเข้าสู่ภาคกลาง ได้สถาปนาภูเขานี้ให้เป็นเขาเทวดาที่เทิดทูนบูชา เพราะเป็นแหล่งกำเนิดชาติแมนจู จึงเป็นสถานที่อนุรักษ์มากว่า ๓๐๐ ปี  สหประชาชาติประกาศเป็นมรดกโลก มีทะเลสาบเทียนฉือบนเขา เป็นที่กำเนิดของแม่น้ำสำคัญ ๓ สาย คือ ถูเหมินเจียง ยาลู่เจียง ซงฮัวเจียง มีน้ำไหลออกมาโดยน้ำในทะเลสาบไม่แห้งเลยตลอดปี มีทะเลสาบเซียงไห่ เป็นดินแดนแห่งนกน้ำหลายชนิด พื้นที่แถบนี้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเพาะปลูกได้ดี จึงถือว่าเป็นฉางข้าวของประเทศชาติ 

     ณ มณฑลจี๋หลิน เสด็จฯ ไปยังเรือนรับรองที่ประทับ อาคาร ๑ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรือนรับรองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน คือมีพื้นที่ถึง ๘๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร มี ๒๒ อาคาร  ในช่วงค่ำ ผู้ว่าราชการมณฑลจี๋หลิน และภริยา จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ เรือนรับรอง อาคาร ๑๐

     เสด็จฯ ไปยังพระราชวังจักรพรรดิหุ่นเชิด ทอดพระเนตรนิทรรศการจัดแสดงภาพเกี่ยวกับชีวิตของจักรพรรดิผู่หยี หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่าพระเจ้าปูยี ซึ่งเคยประทับที่วังนี้ระหว่างค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๔๕ จัดแสดงห้องที่เคยประทับและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์มณฑลจี๋หลิน จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ของมณฑลแต่ครั้งโบราณ ทอดพระเนตรหนังสือโบราณและภาพเขียนสำคัญ แล้วเสด็จฯ ไปยังมหาวิทยาลัยฉางชุน ทรงฟังการบรรยายเกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัย ทอดพระเนตรกิจการแผนกการสอนคนพิการ การแสดงดนตรีของคนพิการ

     ณ เมืองจี๋หลิน  ทรงพระดำเนินทอดพระเนตร “อู้ซง”หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า อู้ซงซู่กั้ว  คือเกล็ดน้ำแข็งที่เกาะบนต้นไม้ เกาะต้นหลิวและต้นหยางบริเวณหน้าเทศบาลเมืองจี๋หลิน  เนื่องจากอากาศหนาวจัดและอุณหภูมิลดต่ำลงมากประมาณ - ๒๕ ถึง - ๒๐ องศาเซลเซียส ทำให้มีเกล็ดน้ำแข็งนาน  ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์จี๋หลิน จัดแสดงนิทรรศการเรื่องลูกอุกกาบาต ให้ชื่อว่า “แขกที่มาจากสวรรค์” ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ศาลเจ้าบูชาขงจื้อ ที่เรียกว่า เหวินเมี่ยว เป็นศาลเจ้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนิทรรศการชีวประวัติขงจื้อ  ในช่วงค่ำ นายกเทศมนตรีจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ เรือนรับรอง อาคาร ๑ แล้วเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงโคมไฟน้ำแข็ง

     เช้าวันต่อมา ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตร “อู้ซง”เกล็ดหิมะที่เกาะตามต้นไม้บริเวณหน้าเรือนรับรองที่ประทับ  แล้วเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงไฟฟ้าพลังน้ำเฟิงหม่าน เป็นโรงไฟฟ้าเก่าแก่ ๔๐ กว่าปีมาแล้ว เสด็จฯ ไปยังทะเลสาบซงฮัวหู น้ำในทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง เสด็จพระราชดำเนินกลับเมืองฉางชุน ทอดพระเนตรการแสดงทางวัฒนธรรมและดนตรีในโรงละครใหญ่ของเมืองฉางชุน ต่อมา เสด็จฯไปยังโรงถ่ายภาพยนตร์เมืองฉางชุน ทอดพระเนตรวังโบราณจำลอง จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง โดยรถไฟพระที่นั่งที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดถวาย

     เล่ม ๔  “เฮยหลงเจียง” วันที่ ๑๔-๑๗ มกราคม ๒๕๓๗

     มณฑลเฮยหลงเจียง เป็นมณฑลที่อยู่เหนือที่สุดของจีน มีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย  มีแม่น้ำเฮยหลงเจียงกั้น มณฑลนี้เป็นฐานที่สำคัญที่สุดในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของจีน มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เครื่องจักร เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ถ่านหิน ป่าไม้ อาหารต่าง ๆ น้ำมันดิบที่นี่มีประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำมันทั่วประเทศ ด้านประวัติศาสตร์ ได้มีการพบมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์หลายแหล่ง เช่น ที่อั๋งอั๋งซี เมืองฉีฉีฮาเอ่อร์ เป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์

     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เฮยหลงเจียง มีนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และแผนกสัตว์ ทอดพระเนตรวัดรัสเซีย มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า ตงเจิ้งเจี้ยว ภาษาอังกฤษว่า Eastern Orthodox Church เหตุที่เมืองฮาร์บินมีวัดรัสเซียเนื่องจากมีชาวรัสเซียอพยพมาอยู่มาก ปัจจุบันคนเชื้อสายรัสเซียอยู่ในบ้านพักคนชราเป็นส่วนใหญ่ ทอดพระเนตรวัดจี๋เล่อ แปลว่า ความสุขอย่างยิ่ง ทอดพระเนตรวัดเหวินเมี่ยว หรือวัดขงจื้อ จัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์คนกลุ่มน้อยในมณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งมีทั้งหมด ๔๘ ชนเผ่า แต่พิพิธภัณฑ์จัดมาแสดง ๘ ชนเผ่า เช่น เผ่าหม่าน เผ่ามองโกล เผ่าตาเว่อร์ เป็นต้น จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวตำบลยู่ฉวน  ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันแบบพื้นเมือง รายการอาหารมีอาทิ ซุปหูกวาง หางกวาง เลือดกวาง หัวใจกวาง ผัดกระต่ายป่า  นกไก่ฟ้าย่าง เป็นต้น ในช่วงค่ำ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงโคมน้ำแข็งและน้ำแข็งแกะสลักที่อุทยานน้ำแข็งเจาหลิน น้ำแข็งที่ใช้สลักคัดมาจากแม่น้ำซงหัว สลักเป็นรูปต่าง ๆ เช่น รูปบุคคลในประวัติศาสตร์  รูปอาคาร สถานที่สำคัญต่าง ๆ มีการแข่งขันแกะน้ำแข็งนานาชาติ

     ต่อจากนั้น ประทับเครื่องบินพระที่นั่งไปยังเมืองเฮยเหอ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเฮยหลงเจียง ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามเป็นประเทศรัสเซีย น้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ไม่สามารถเดินเรือได้ แต่ผู้คนเดินข้ามมาจากฝั่งรัสเซียได้ เสด็จฯ ไปยังหมู่บ้านคุนเหอ ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชนเผ่าตาเว่อร์  ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู เสด็จฯ ที่ว่าการอำเภออ้ายฮุย พวกแมนจูเรียกชื่อเมืองอ้ายฮุยว่า ซาฮาเลียนอูลาฮัวทง แปลว่า เมืองแม่น้ำดำ ตรงกับความหมายคำว่าเมืองเฮยเหอในภาษาจีน ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองอ้ายฮุย

     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เฮยเหอ เขตพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรตลาด มีการซื้อขายสินค้าระหว่างชาวจีนและชาวรัสเซีย จากนั้น ประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จฯ กลับมายังเมืองฮาร์บิน เสด็จฯ ไปยังสวนสาธารณะสตาลิน มหาวิทยาลัยป่าไม้